วันพุธที่ 7 – วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 สภาพัฒน์ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อจัดทำโครงการติดตามและประเมินผลเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA)ปี 2563 เจ้าหน้าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จำนวน 15 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหาภาค กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม กองขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนา และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ประกอบด้วย ผศ.ดร.เรวดี โรจนกนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และนางสาวศนิวาร บัวบาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วเพื่อติดตามผลการดำเนินการตามแผนย่อยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในช่วง พ.ศ. 2561-2563 ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (9) ประเด็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้พัฒนา เพื่อจัดทำกรอบและข้อเสนอแนะ เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำกรอบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเป็นกรอบของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะต่อไป ในครั้งนี้ คณะได้เข้าพบหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย (1) นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (2) ด่านศุลกากรอรัญประเทศ (3) สำนักงานจังหวัดสระแก้ว (4) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระแก้ว (5) สำนักงานสถิติจังหวัดสระแก้ว (6) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว (7) สำนักงานแรงงานจังหวัดสระแก้ว (8) สำนักงานจัดหางานจังหวัดสระแก้ว (9) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว (10) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว (11) หอการค้าจังหวัดสระแก้ว (12) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว (13) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว (14) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระแก้ว (15) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว และ (16) สถานีพัฒนาที่ดินสระแก้ว เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น รับทราบปัญหาและอุปสรรค และผลกระทบของการดำเนินงานในช่วงก่อนและหลังการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว นอกจากนี้ คณะยังได้พบผู้แทนจากภาคประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ประกอบด้วยหน่วยงานท้องถิ่นจำนวน 4 ตำบล ได้แก่ (1) องค์การบริหารส่วนตำบลผักขะ (2) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม (3) เทศบาลตำบลบ้านด่าน และ (4) เทศบาลตำบลป่าไร่ เพื่อรับทราบปัญหา ข้อกังวล และผลกระทบด้านการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะได้รวบรวมข้อมูล ประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โดยในระยะต่อไป โครงการจะนำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเป็นกรอบของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะต่อไป โดยจะมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจำนวน 3 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในการวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนการพัฒนา กำหนดวิสัยทัศน์และประเด็นยุทธศาสตร์ กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวชี้วัด ประเมินข้อมูลฐาน และกำหนดทางเลือกการพัฒนาเบื้องต้น ซึ่งการระดมความคิดเห็นในครั้งที่ 1 กำหนดไว้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563