เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565  นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และร่วมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการวางแผนพัฒนา โดยมีนายกรุณา นันทวงศ์ดวงศรี รองอธิบดีกรมแผนการ และคณะศึกษาดูงาน จำนวน 12 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการวางแผนและลงทุน (Ministry of Planning and Investment) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Natural Resources and Environment) และกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ (Ministry of Energy and Mine)

โดยกิจกรรมการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในช่วงเช้า มีการบรรยายในหัวข้อ การพัฒนา SEA ในประเทศไทย และ SEA กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการบรรยายในหัวข้อ การวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ โดย นายโสภณ
แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ในช่วงบ่าย มีการบรรยายในหัวข้อ SEA กับกระบวนการวางแผน โดย ผศ.เรวดี โรจนกนันท์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และการบรรยายในหัวข้อ การประยุกต์ใช้ SEA ในรายสาขา/เชิงพื้นที่ โดยนางสาวสุภัทรา เชิดชูไชย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ โดยในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ คณะศึกษาดูงานได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีนางสาวนุชจรี วงษ์สันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานร่วมให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2565 คณะศึกษาดูงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำ SEA กับแผนพัฒนาพลังงาน ณ กระทรวงพลังงาน ร่วมกับนายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน การจัดทำ SEA กับแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับนายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และความเชื่อมโยง SEA กับ EIA และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับนางเสาวภา หิญชีรนันท์ กองพัฒนาระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับ สปป.ลาว ในการนำ SEA ไปประยุกต์ใช้ในการทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2564 – 2568) และจัดทำแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2565 – 2569) ต่อไป และสำหรับประเทศไทย จะเป็นการสร้างองค์ความรู้และรูปแบบการจัดทำ SEA ที่เหมาะสม และนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อน SEA ของประเทศ นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ดังกล่าว จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดทำ SEA ต่อไปในอนาคต